**เออีซี...มุมมอง สัญญาณมิติใหม่ พิมพ์
เขียนโดย VRP   

 ดูเหมือนว่าคนไทยฝันหวานกับตลาด เออีซี (AEC : Asean Economic Community) และภาครัฐบาลก็ปลุกกระแสลงสู่ภาคการศึกษา ภาคเอกชน ว่า เศรษฐกิจของไทยจะเติบโต และได้ประโยชน์จากการรวมเป็นสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ

                ในหลายปัจจัยหากเราคำนวณ ผลได้-ผลเสีย จากสถิติข้อมูลบ้างก็จะเป็นการเปิดมุมมองที่ดีในอีก“มิติ” หนึ่ง  ประเทศไทยพึงพิงการส่งออกตลาดต่างประเทศกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ก่อนๆ เราไม่ได้ให้ความสำคัญตลาดเพื่อนบ้านอย่าง ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม มากนัก ปัจจุบันตลาดเหล่านี้มีความน่าสนใจกว่า ยุโรป และอเมริกา และอาจมีความสำคัญมากกว่า “ความเป็นตลาดการค้าชายแดนเสียอีก”

                แต่อีกมุมมองหนึ่งอนาคตข้างหน้าของไทยในตลาด เออีซี ในระยะยาว ต่อฐานเศรษฐกิจบ้านเรา จากการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุด พบว่า ไทยมีประชากร 64 ล้านคน (ไม่ใช่ 67 ล้านคน) และหากถึงปี พ.ศ. 2567 ไทยจะมีประชากร 66 ล้านคน โดยประมาณ หลังจากนั้นจะมีอัตราการเพิ่มประชากรช้าลง

                ข้อมูลจากสถิติของสภาพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ระบุ ปี 2553 ไทยมีคนวัยทำงานอายุ 15-59 ปี ในสัดส่วนสูงสุด 67.03 เปอร์เซ็นต์ และจะลดลงเหลือ 62.46 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2567 จะมีประชากรอายุน้อยกว่า 15 ปี คิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์

                โครงสร้างประชากร มีส่วนสำคัญมากต่อการพัฒนาด้านการตลาด ด้านแรงงาน ลดลงโดยเฉพาะวิกฤติแรงงานไทยหาคนทำงานยากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานมีฝีมือ ค่าแรงแพงแถมไม่มีฝีมือ

                ในมุมมองผู้ประกอบการต้องดูผลกระทบต่อการใช้แรงงาน ที่จำนวน เด็กน้อยลง แต่จำนวนคนแก่เพิ่มมากขึ้น การออมเงินของครัวเรือน ปี 2567 คิดเป็น 15 % ถือว่าเป็นอัตราที่สูง เนื่องจากมีอัตราเฉลี่ยอายุขัยผู้หญิงอยู่ที่ 78 ปี ผู้ชายเฉลี่ยอายุขัย 70 ปี ฉะนั้นต้องมีเงินออมสำหรับเลี้ยงดูอีกหลายสิบปี

                ต้องยอมรับว่าสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การกระตุ้นเศรษฐกิจการบริโภคภายในประเทศคงไม่ได้ผลมากนัก.......ตัวอย่าง เช่น รัฐบาลญี่ปุ่นแจกเงินให้ประชาชน แต่คนก็ไม่บริโภค เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย (คนญี่ปุ่น เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะเชียงใหม่.......)

                ในฐานะประเทศไทยใช้สูตรการพัฒนา ทางเศรษฐกิจแบบ “ประชานิยม” เราจะเอาอะไรมาเป็น “โมเดล” และหาทางออก กรณีอย่าง ประเทศ กรีซ ภาคเอกชนอ่อนแอ ธุรกิจอ่อนแอ ประชาชนอ่อนแอ เพลิดเพลินกับการดูแลจากรัฐบาล ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ไม่มีเงิน เก็บภาษีจากภาคธุรกิจเอกชนไม่ได้ แถมรัฐบาลยังใช้จ่ายเงินเกินตัว กู้หมดหน้าตัก กลุ่ม สหภาพยุโรป หรือ ไอ เอ็ม เอฟ ต้องหามาตรการต่างๆ

                หากเราไม่อยากให้ไทยเป็นเหมือน กรีซ โมเดลไทย เราต้องทำตรงข้ามเช่น ส่งเสริมภาคประชาชนเข้มแข็ง เอกชนเกิดการแข่งขัน (ไม่ใช่ผูกขาด) ครอบครัวมีวินัยทางการเงิน ไม่สุรุ่ยสุร่ายใช้จ่ายเพลิดเพลินจากเงินอนาคต ฯลฯ ทุกคนต้องช่วยกันดูแลกันเองให้ดี หรือจะใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงก็ไม่น่าแปลก.........

                ต้องยอมรับว่าทุกรัฐบาลต่างใช้นโยบายประชานิยมทุกพรรค ที่สำคัญคุณภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องสนับสนุนภาคเอกชนให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง

                ภาพของตลาดเศรษฐกิจประชากร เออีซี 600 ล้านคน คือเป้าหมายของการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคนี้ไทยจะได้เปรียบเสียเปรียบขึ้นอยู่กับมุมมอง โดยเฉพาะไทยมีทรัพยากรเหลือน้อย ผู้สูงวัยมากกว่าเด็ก ค่าแรงแพง(ไม่มีฝีมือ) นักลงทุนหนีไปลงทุนใน ลาว พม่า เวียดนาม โดยเฉพาะ อินโดนีเซีย มีประชากร 200 ล้านคน ด้านการตลาด ค่าจ้างแรงงาน สัมพันธ์กับตลาด และการลงทุน ส่วนจีนตลาดนอกอาเซียนมีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน เป็นอันดับ 2 ของโลก ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่ไม่ร่ำรวย แต่ด้วยการบริหารจัดการ ทำให้มีการกระตุ้นผู้บริโภค จึงถือเป็นตลาดใหญ่

                ต้องยอมรับว่าบริษัทต่างชาติหนีไปลงทุนที่อื่น เป็นธรรมชาติของการลงทุน ที่มองทะลุทะลวงอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยเติบโตเพราะภาคเอกชนแข็งแรง.....ด้วยตัวเอง....จึงขอฝากวิงวอนทุกรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้ง ช่วยกันปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการภาครัฐ-ภาคเอกชน-ภาคครัวเรือน สู่การแข่งขันที่ยั่งยืนในตลาด ....ด้วยคุณภาพ....มากกว่าปริมาณ 

                                                                                                                                                                                                                           คน  บนดอย

Joomla Templates and Joomla Extensions by ZooTemplate.Com